Something about Siamese minority

13/02/2010

เมื่อสถานที่สาธารณะกำลังกดขี่และกีดกันคนพิการ

ต้องขอออกตัวก่อนว่าเป็นคน(ยัง)ไม่พิการ และไม่มีประสบการณ์ตรงกับความพิการ แต่ด้วยกว่าสิบปีมานี้ ได้มีโอกาสเข้าไปยุ่งกับคนที่มีประสบการณ์ตรงกับความพิการ ขออนุญาตเอาประสบการณ์แบบอ้อมๆมาแบ่งปันกัน

หากแปล accessibility แบบตรงไปตรงมาก็คงเป็นการเข้าถึงและ accessible facilities มักได้ยินเป็นภาษาไทยว่า การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ตัวอย่างต่อไปนี้จึงขอพูด access แบบที่มีสองด้าน ด้านหนึ่งคือระดับกายภาพ คือเข้าถึงจุดหมายและใช้ประโยชน์จากอาคาร สถานที่นั้นๆได้ เข้าถึงเพราะคนพิการมีกิจ มีความเชื่อมโยงกับสถานที่นั้นๆ ในทางกลับกัน ถ้าอะไรที่เข้าถึงไม่ได้ หรือใช้ไม่ได้ หมายความว่ามันกำลังกีดกันคนพิการออก เช่น บันได แค่สูงจากพื้นเกิน 2 เซน ก็หยุดล้อรถเข็นไม่ให้หมุนได้แล้ว เมื่อคนพิการเข้าอาคารสถานที่นั้นๆไม่ได้ คราวนี้ เค้ากำลังถูกกีดกันอีกระดับคือระดับนามธรรม ประมาณว่า “ที่นี่ไม่ต้อนรับคุณ” หรือ “คุณไม่มีอะไรที่จะต้องเข้ามาสัมพันธ์กับสถานที่เหล่านี้” เมื่อสถานที่เป็นแบบนี้คือมีอุปสรรคมากๆเข้า คนพิการกำลังถูกกีดกันออกจากสังคมของเค้า และดูเหมือนว่า วงจรแบบนี้กำลังเกิดขึ้นกับสังคมทุกสังคม หนัก-เบาก็ขึ้นอยู่กับความใส่ใจและไม่ใส่ใจของคนที่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องเหล่านี้

ต้องขอขอบคุณพี่น้องคนพิการทุกท่านที่มีน้ำใจและอุทิศเวลาและกำลังกาย-ใจ เป็นอาจารย์ให้ผู้เขียนได้เรียนรู้เรื่อง Access และความต้องการของคนพิการอย่างลึกซึ้งมากขึ้นมาโดยตลอด

จุดเล็กๆที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตคนหลายคน

  1. นักออกแบบ วางผัง ไม่เข้าใจจริงว่าโลกนี้มีคนที่หลากหลาย เลยออกแบบอะไรที่เป็นค่าเฉลี่ยให้ร่างกายที่ได้ตามมาตรฐาน ไม่ขาดไม่เกิน และคิดว่าการสื่อสารมีรูปแบบเดียว คือ พูดด้วยปากฟังด้วยหูและดูด้วยตา
  2. คนที่มีอำนาจตัดสินใจไม่ว่ารัฐหรือเอกชน มักคิดว่า คนที่มีความพิการคงเป็นคนที่มีจำนวนน้อย(ม๊าก)ในสังคม เลยคิดแต่เรื่อง ลงทุนแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม ที่น้อยอาจเพราะกระบวนการสร้างความนิยามมันจำเพาะ จนเหลือคนที่มีความพิการที่เข้าข่าย (หรือที่เข้าท่า) น้อยเหลือเกิน เมื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมาแล้วก็ไม่ดูแลรักษาเพราะคิดว่าจะไม่คุ้มการลงทุน
  3. คนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับความพิการ คิดว่าไม่เคยเห็นคนพิการในที่สาธารณะ ก็เลยคิดว่า เค้าคงไม่ต้องการออกมาบวกกับความละเลย ไม่ใส่ใจเมื่อพูดถึงคนพิการก็นึกถึงแต่ขอทาน ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิซ ไม่ไปซื้อของ ไม่ไปดูหนังฟังเพลง ไปกินข้าวในร้าน ดังนั้น ก็คงไม่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้น
  4. สื่อที่เป็นภาพสะท้อนของสังคม มักไม่เสนอ หรือแม้เสนอก็สร้างภาพตัวแทนคนพิการให้เป็น ผู้ด้อยเปรียบของสังคม หรือหากใส่ใจนำเสนอ ชีวิตของคนพิการก็มักเป็นเรื่องน่าสงสาร น่าเศร้า “…ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย..โปรดมาทำบุญกันเถอะ”
  5. ที่แย่ที่สุดคือ คนที่ออกกฎหมายมาแล้ว ตามแบบที่ไปสัญญาไว้ในเวทีนานาชาติแต่ไม่ใส่ใจจะทำตามที่สัญญากัน เมื่อมีคนทวงสัญญาก็เลี่ยงที่จะได้ยิน

เอาแค่นี้ก่อน ลองมาสำรวจว่าปัญหาที่ว่ามันแอบอยู่ตรงไหนบ้างในที่ที่คนพิการต้องการไป

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ที่ที่คนพิการต้องการไปไม่ได้มีความแตกต่างจากใครอื่นเลย ซึ่งต่างจากที่โครงการรถเมล์ 4000คันที่จะจัดให้เฉพาะผ่านโรงพยาบาลหรือสถานที่ราชการเท่านั้นโดยสิ้นเชิง

ภาพแรก ย่าสีลม-เพราะนักออกแบบคิดว่าทุกคนก้าวขึ้นลงถนนด้วยเท้า ขอบฟุตภาพสูงๆเลยเป็นอุปสรรคมหาศาลให้กับวีลแชร์ จุดนี้คือทางข้ามบนถนนสีลม ทั้งที่มีทางลาดเอียงแล้ว แต่เกาะกลางถนนกลายเป็นอุปสรรคอันใหญ่

ย่านรามอินทรา- เมื่อนึกว่าทุกคนข้ามถนนด้วยสองเท้าและร่างกายแข็งแรง แค่อย่างเดียว วิธีการข้ามถนนเลยถูกออกแบบแค่ทางเลือกเดียวคือสะพานลอย คนพิการบางคนต้องถึงกับพยายามขึ้นแท๊กซี่เพื่อให้เค้ากลับรถ เพียงแค่จะข้ามถนน

ย่านสยามฯ-เพราะในกระบวนการคิดและการออกแบบไม่เคยมีเรื่องคนพิการในความคิดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ที่เหลือบนทางเท้าหลังจากสร้างป้อมตำรวจเสร็จแล้ว ก็เหมือนไม่เหลือพอสำหรับวีลแชร์หรือคนตาบอด หรือแม่เข็นลูกหรือแม้แต่เดินลากกระเป๋าใบโต

ย่านสยามเซ็นเตอร์-ทางลาดที่ดูเหมือนว่ามาสร้างเพิ่มภายหลัง และความชันจนเหมือนไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อให้คนพิการใช้เองได้ รปภ.ที่ไม่ได้รับการฝึกให้บริการคนที่หลากหลาย เลยทุลักทุเลเมื่อต้องบริการลูกค้าที่เข้าอาคารด้วยทางลาดมาเยือน

ย่านรามคำแหง เป็นเพราะนักออกแบบและคนก่อสร้างไม่ใส่ใจ ไม่นำพาว่า ไม่ใช่ทุกคนสามาถเดินข้ามความต่างระดับเหล่านี้ได้ ความมักสะดวก เอาง่ายๆ (ฐานปูนโครงสร้างสะพานลอยและบันไดเข้าห้างที่ไม่มีทางลาด) ของใครบางคน กำลังกีดกันใครหลายคนออกไป

หุ่มแมคโดนัลด์ยกมือไหว้ต้อนรับ แต่บันไดหลายขั้นกำลังบอกคนใช้วีลแชร์ว่า เราต้องรับเฉพาะคนที่ก้าวขึ้นบันไดมาได้เท่านั้น L

ห้องน้ำสาธารณะอนุสาวรีย์ชัย- นักออกแบบ ผู้รับเหมาตัดคนที่ไม่ได้ใช้สองขา หัวเข่าเสื่อมหรือผู้หญิงส้นสูงออกไปจากงานออกแบบและก่อสร้าง

ย่านรามอินทรา ทางเท้าพังเพราะพอมีทางลาด มอไซค์ก็ใช้เป็นทางย้อนศร เมื่อพัง รัฐก็ละเลยที่จะดูแล กฎจราจรก็ไม่เอาจริง คนที่สร้างสาธารณูปโภคก็ไม่เอาจริง ผลก็คือ คนที่ต้องการจริงๆกลับใช้จริงไม่ได้นั่นเอง

ย่านปทุมวัน ใจกลางเมืองหลวง เราไม่ต้องอายใคร ทางเท้าที่เหลืออยู่นี้ สองเท้าก้าวข้าม ต้องยังต้องใช้สายตาระวังดีๆ ก็ลำบากมากแล้ว ไม่ต้องนึกว่ามันจะเป็นอุปสรรคขนาดไหนหากใช้วีลแชร์หรือไม้เท้าช่วยเดิน

ตลาดกลางคืนย่านสีลม- เพราะคนทั่วไปไม่ค่อยเห็นคนพิการ จึงไม่เหลือพื้นที่สำหรับเค้า เช่น บนทางเท้าไม่มีที่สำหรับคนที่ต้องการพื้นที่มากกว่าแค่สองเท้าเดิน วีลแชร์จึงต้องมาลุ้นหาความปลอดภัยกับรถบนถนนแทน
ความสูงที่ต่ำกว่าระดับสายตาจากคนขับทำให้ต้องเสี่ยงภัยกันเอง

บนฟุตบาทย่านรามคำแหง- หลายคนบอกว่า การขายของข้างทางเป็นเสน่ห์ของเมืองกรุง อย่างกรุงเทพ แต่ความสะดวกของหลายๆคนกำลังเบียดเบียนสิ่งจำเป็นพื้นฐานของคนอีกหลายคน แผงขายรองเท้าค่อยๆคืบคลานสินค้าลงมาบนทางลาดสำหรับมนุษย์ล้อ บางทีคนตาบอดชนเข้ากับของเหล่านี้ จะกลายเป็นความผิดของเค้าอีกหรือเปล่า

ย่านสัมพันธวงศ์-พื้นที่สาธารณะเป็นของใคร ย่านนี้มีการปูผิวทางเท้าใหม่ เรียบและสวยงามมากขึ้น มี slope และปุ่มเตือน แต่คนทั่วไปกลับใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จอดรถของกิจการตัวเองบนทางเท้าสาธารณะเหลือที่ให้พอเบียดๆเดินสองขาได้ เท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐมักเหลือตาข้างเดียวเวลาผ่านมาแถวนี้

บางรัก- ย่านนี้ทางเท้าเรียบและมีปุ่มเตือนทางต่างระดับเมื่อดูด้วยตาแล้วน่าจะใช้ได้ดี แต่เหตุผลที่คนทั่วไปมักใช้มันผิดๆ เช่นเป็นทางขอมอไซค์และจอด คือเค้าไม่ค่อยเห็นคนพิการมาใช้ คำตอบง่ายๆคือก็ถ้ามาใช้แล้วเจอสิ่งกีดขวางแบบนี้ ครั้งสองครั้งพอไหว ให้มาประจำก็คงไม่เอาเหมือนกัน คงต้องบอกเจ้าหน้าที่ที่รักษากฏระเบียบให้ช่วยเปิดตาอีกข้างหนึ่ง

ท่าน้ำราชวงศ์ ไม่แปลกที่คนทั่วไปจะนึกคนพิการว่ามักเกี่ยวข้องกับขอทานหรือไม่ก็ขายลอตเตอรี่ เพราะภาพติดตาในที่สาธารณะมักเป็นเช่นนี้ และในระบบทุนนิยมที่คิดอะไรบนฐาน คุ้มทุน และกำไร เมื่อภาพติดตาคนพิการเป็นเช่นนี้จึงไม่คิดจะลงทุนอะไร เพราะไม่เห็นว่าเค้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตทุนให้กับสังคม คนพิการหลายคนมีอาชีพ ซื้อของจ่ายภาษี อย่างในภาพนี้ทั้งๆที่เค้ามีอาชีพอิสระ ซื้อของราคาเท่าคนอื่นและนี่หรือวิธีที่เค้าต้องปรับตัว (ใช้ล้อสเกต) เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่สาธารณะที่พยายามกีดกันคนเหล่านี้ออกไป

เยาวราช- การข้ามถนนดูเหมือนเป็นเรื่องท้าทายมากในกรุงเทพ ใครไวใครรอด แต่ไม่ใช้ทุกคนที่จะไวพอ ไม่มีการออกแบบทางข้ามที่ปลอดภัยและจริงจังกับการใช้งานจริงๆ คนที่เดินได้ช้ากว่าก็ต้องเป็นคนรอ รอน้ำใจ รอความเห็นใจถึงจะได้ข้ามถนน คนทั่วไปโดยเฉพาะเมื่อขับรถ ความรีบเร่งจึงไม่สามารถรับประกันน้ำใจอะไรได้ ดูเหมือนว่าเราต้องการกฏระเบียบที่จริงจังมากกว่ารอน้ำใจกัน

ย่านเพชรบุรี- จากเคยเป็นทางเท้า กว้าง สะดวก มอไซค์มาใช้กันมาก เลยมีเสาไปกั้น กั้นไปกั้นมา มอไซค์ก็ขึ้นมาจอดวินได้ปกติแต่มันเหลือช่องเล็กกว่าวีลแชร์จะผ่านได้ ดูเหมือนว่าทางเท้าโซนนี้จะเป็นเขตปกครองพิเศษไปแล้ว และก็ต้องเข้าใจกลุ่มอาชีพมอไซค์รับจ้างด้วย ถึงแม้มีรายได้ แต่ก็จ่ายค่าดูแลกัน ให้กับคนรักษากฎหมายที่เค้าแอบละเมิดเล็กๆไว้เหมือนกัน

ห้างเซ็นทรัล- ดูแล้วก็ดูดี ได้ตามมาตรฐานสากล ปัญหาคือการปฏิบัติการ เมื่อมีป้ายรู้แล้วว่าเป็นที่จอดรถคนพิการ เมื่อไม่มีคนพิการมา ก็มีคนไม่พิการมาจอดแทน หลายครั้งเข้า รปภ.ก็เอาแผงมากั้น กั้นแล้วกั้นเลย ลืมมาคอยดูว่า เมื่อคนพิการที่ขับรถมาคนเดียวต้องการให้ช่วยเอาออกเพื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นลงรถหลายเที่ยว สรุปแผงกั้นนี้ก็กั้นคนพิการไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี ที่มีแล้วก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีมากๆ ผู้บริหารก็มีความก้าวหน้าที่จะรับความหลากหลายของคน (ภาพลักษณ์ก็ยังขายได้ดี)

หน้าสยามเซ็นเตอร์- ตู้โทรศัพท์ที่ใช้ไม่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้ง 4 ตู้ เพราะคิดเพียงว่าทุกคนสามารถเข้าไปใช้ด้วยเท้าสองข้าง ทุกตู้มีฐานปูนสูงกั้นวีลแชร์ ทั้งๆที่นี่คือย่านที่ทันสมัยและเป็นหน้าตาของกรุงเทพแห่งหนึ่ง

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมสาธารณะที่เป็นอุปสรรค และกดขี่ความเท่าเทียมของคนพิการยังมีอีกมาก ปัญหาของสังคมไทยไม่ใช่เรื่องงบประมาณ หรือความรู้ด้านเทคนิควิธี เรามีคนเก่งๆด้าน วิศวกรรม และสถาปัตยกรรมแยะมาก ล้นเหลือ แต่ความคิดที่เรามีต่อคนพิการ ความพิการนี่สิ ปัญหาใหญ่ หากเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ คนชรา หรือแม้แต่เด็ก ยังเป็นเรื่องที่วางอยู่บนฐานความคิดเรื่องการลงทุน คุ้ม ไม่คุ้ม และการแก้ปัญหาวนอยู่กับเรื่องเทคนิค คูณกับจำนวนเงิน เราคงหนีไม่พ้น การเอาเปรียบคนพิการ การกีดกันคนพิการออกไปจากสังคม ทั้งๆที่ การเดินทางไปไหนมาไหน เป็นสิทธิมนุษย์ที่พื้นฐานที่สุดแล้ว

01/02/2010

นักวิจัย(นักตีความ)กับการทบทวนตัวเอง

หลังจากที่คนบางกลุ่มที่ชอบแบ่งโน่นแบ่งนี่ แล้วบอกว่าช่วงยุคสมัยนี้เราเข้าสู่ช่วงหลังสมัยใหม่แล้ว การทำงานวิจัยจึงต้องกลับมาทบทวน หากระบวนการเข้าถึงความรู้ที่ปรับให้เข้ากับโลกปัจจุบันบ้าง กลุ่มหลักๆคือกลุ่มที่มองว่า โลกนี้และความจริงนั้นล้วนถูกสร้างขึ้น และภายใต้กระบวนการสร้างอะไรต่อมิอะไรให้เข้าใจว่าเป็นความจริงนั้น มีอำนาจแฝงอยู่ หมายความว่า ความรู้ที่สามารถอธิบายความจริงที่ถูกสร้างขึ้นนั้นก็สามารถโยงกับการ ถือครอง/ใช้ อำนาจของคนที่มีความรู้นั้นๆด้วย Foucault น่าจะเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มนี้

ในกระบวนทัศน์ก้อนใหญ่ก้อนนั้นก็มีวิธีการเข้าถึงความรู้อยู่ชุดหนึ่ง คือกลุ่มหนึ่งที่สวมแว่นที่มีความคิดว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จริงแท้และแน่นอน คือมองว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปตาม กาละ และ เทศะ กระบวนงานเข้าไปหาความรู้ของกลุ่มนี้คือ เข้าไปมีส่วนสัมผัส บ้างก็ไปเป็นส่วนหนึ่งเลย กับกระบวนการเข้าถึงความรู้ หรือที่เข้าใจว่าเป็น “ความจริง”ในช่วงขณะหนึ่ง เห็นคนแถวนี้เค้าเรียก Phenomenology ในทางสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยาก็เข้าไปพยายามทำความเข้าใจกับโลกทัศน์ (Life World) ของคน/ปรากฎการณ์ ที่เป็นต้นเรื่องของงานวิจัย หรือของคำถามที่นักวิจัยตั้งขึ้น จากนั้นก็ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับภาวะรอบๆคน/ปรากฎการณ์ ต้นเรื่องนั้นในการตีความเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่คน/ปรากฎการณ์ต้นเรื่องอีกที

ก็เห็นคนแถวนี้อีกเช่นกันให้ความสนใจกับกระบวนการเข้าถึงความรู้โดยสวมแว่นที่ว่านี้พอสมควร โดยเฉพาะรายการสารคดีของ BBC เมื่อเร็วๆนี้ มีสารคดีชุด ชื่อ The Lost Kingdoms of Africa โดยคน African English, Dr. Gus Casely-Hayford นักประวัติศาสตร์ด้านแอฟริกัน (คนที่สวมหมวกสีดำ) ประเด็นที่สนใจมาเขียนคือ ตอนที่เค้าเข้าไปศึกษาเรื่องวัฒนธรรมที่มีอารยะของชนเผ่าทางตะวันตกของแอฟริกานั้น ชนเผ่า Dogon ใน Mali คนพื้นเมืองคนหนึ่งบอกว่ามีการเต้นรำในงานศพ ซึ่งมีการแต่งตัวเป็นสัตว์ต่างๆ ออกมาเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป มีสัญลักษณ์ที่เป็นคล้ายคนกางเขนกางขาหรือจะมองเป็นจิ้งจกพวกสัตว์เลื้อยคลานก็ได้ Dr. Gus คนนี้ก็มีความรู้ชุดหนึ่งว่ากลุ่มชนเผ่ามีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณในคน สัตว์และไม่ใช่ทั้งคนและสัตว์ เค้าจึงเข้าใจที่คนพื้นเมืองอธิบายว่า รูปที่เห็นบนหัวคนที่เต้นรำนั้นคือ lizard หรือพวกจิ้งเหลน และมีคนสวมหัวที่มีแท่งยาวๆขึ้นไปข้างบนว่าเป็นสัญลักษณ์ของงู และผู้หญิงเดินด้วยไม้ยาวๆต่อขาจนสูง ก็บอกว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง(จำชื่อไม่ได้) เพราะ Dr.คนนี้มีความรู้เรื่อง Animist คือการใช้สัตว์ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังนำเสนอว่าจริงๆแล้วพิธีกรรมเหล่านี้ มีมานานมาก เพราะพบหลักฐาน ใน ceramics มีการแกะสลักภาพพิธีการเต้นและใส่หน้ากากแบบนี้มาประมาณ 11,400 ปี นั่นหมายความว่า มีมาก่อนตั้งแต่ช่วงที่ทวีปยุโรปเพิ่งจะแยกตัวออกมาจากแผ่นน้ำแข็งข้างบนทางเหนือ และ ceramic ก็แสดงให้เห็นความมีอารยธรรมของชนเผ่าที่มีมานาน นานกว่า ceramic ชุดแรกที่เจอในอังกฤษถึง 8,000ปี เค้ายังอธิบายอีกว่า มีคนอังกฤษมา นำ ของเหล่านี้ไปไว้ที่พิพิทธภัณฑ์ เมื่อช่วงปี 1890 กว่าๆ และนั่นยิ่งหมายความว่า การที่อังกฤษออกไปล่าอาณานิคมแล้ว “ปล้น” อารยธรรมเค้ามา แล้วอ้างว่าที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะคนแอฟริกันไม่มีอารยธรรม ป่าเถื่อนนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวน ความรู้แบบนั้น

หลังรายการจบ ก็ต่อทันทีด้วยอีกรายการหนึ่งประมาณ 5 นาทีแทรกเข้ามา ชื่อรายการ Around the World in 80 Treasures โดยคนอังกฤษชื่อ Dan Cruickshank นักประวัติศาตร์ด้านศิลปะ/สถาปัตยกรรม (สวมหมวกสีขาว) ก็มากับคนพื้นเมืองอีกหนึ่งคน ใน Dogon เช่นกัน ก็เล่าว่าในพิธีนี้เป็นการเต้นรำเพื่อเชื่อมโยงมนุษย์กับเทพเจ้า ที่เป็นรูปคล้ายคนกางแขนกางขานั่นคือ ข้างบน (แขน) คือท้องฟ้า ข้างล่างคือมนุษย์ ส่วนคนที่สวมอะไรแท่งๆสูงๆ ก็คือการแสดงสถานะของความรู้ของคนที่มีความรู้ ส่วนผู้หญิงที่มีการต่อขายาวๆนั่นก็คือ การที่ชนเผ่านี้ต้องการเชิดชูผู้หญิงให้อยู่สูงเหนือเพศชาย แล้วรายการนี้ก็สรุปว่า สิ่งเหล่านี้ เช่นหน้ากาก และ ornaments เหล่านั้นล้วนมีค่ามาก เพราะรายการเค้าคือ เสาะหาสมบัติล้ำค่าในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมทั่วโลก

อย่างที่ขึ้นต้นเรื่องนี้เอาไว้ว่า หากในยุคหลังนี้ เกิดชุดความคิดที่ว่า โลกนี้นั้นไม่มีอะไร จริงแท้ และไม่มีอะไรจริงหนึ่งเดียว ตัวอย่างการตีความของนักประวัติศาสตร์สองคนนี้น่าสนใจมาก คำถามคือ ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องหันมาทบทวนตัวนักวิจัยเอง นักประวัติศาตร์สองคนมีความรู้ชุดหนึ่ง แล้วเข้าไปหาปรากฎการณ์ที่มันเกิดขึ้นอยู่ มีคนพื้นเมืองเป็นตัวแปรช่วยให้เค้าตีความเข้ากับความรู้ชุดที่เค้ามี แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังการตีความนั้นคือ จะอิงเข้าหาอำนาจของความรู้ทางไหน ด้านหนึ่งของนักประวัติศาสตร์แอฟริกัน ก็บอกว่า จริงๆแล้วรากเหง้าของแอฟริกันนั้นมีอารยธรรมที่เจริญมาช้านนาน นานกว่าคนที่มาอ้างว่า ศิวิไลซ์กว่าแล้วมายึดครองเค้า ส่วนนักประวัติศาสตร์ที่มีความรู้ชุดที่อยู่บนพื้นฐานของการออกไปล่าหาสมบัตินั้น กลับมองที่ตัววัตถุ อย่างตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เค้าไม่ได้โยงวัตถุเหล่านั้นกับรากเหง้าของอารธรรมช้านานนั้นเลย

ข้อสังเกตของผู้เขียนคือ คนพื้นเมืองสองคนที่เป็นไกด์ อาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับความหมายของหน้ากากเหล่านั้นแตกต่างกันก็ได้ แต่เค้าอาจจะต้องการส่งข้อมูลให้คนสองคนตีความต่างกันก็ได้ เช่น ต้องการให้คนอังกฤษที่ครั้งหนึ่งตีตราว่าพวกเขาไร้อารยธรรมเข้าใจว่าพวกเค้ามีอารยธรรมต่างหาก เช่น บอกว่า ผู้หญิงที่ต่อขายาวนั้นก็ความต้องการเชิดชูให้ผู้หญิงสูงส่ง หรือหัวยาวๆคล้ายงูนั่นคือ สถานะของคนที่มีความรู้สูง ก็เป็นได้ ดังนั้น ในการตีความเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอธิบายภูมิหลังและบทบาทของนักวิจัย(นักตีความ)นั้นๆด้วย

หากมองว่าคนที่มีอำนาจคือคนที่ถือครองชุดความรู้ ตอนนี้มีงานศึกษาแอฟริกันอย่างจริงมานานแล้ว คนอังกฤษหรือพวกนักล่าอาณานิคมเมื่อก่อนนั้นก็ต้องหันไปจับมือ ตกลง Fair trade กับคนแอฟริกันในการทำการค้าอาหารกัน แทนที่จะอ้างว่าไม่มีอารยธรรมเดี๋ยวฉันจัดการให้เอง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ BBC เปิดโอกาสให้ทั้งสองรายการได้เผยแพร่ในเวลาไล่เลี่ยกัน และข้อมูลของการตีความนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง หน้าที่คนดูต่างหากที่จะมองว่ากระบวนการเข้าถึงความรู้อันไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน

ผู้เขียนนั่งถามตัวเองว่า ถ้าสื่อมวลชนในประเทศไทยยังหมุนวนตนเองอยู่กับการเลือกมอง แกล้งปิดตา ปิดหู ปิดปากตัวเองเพื่อความอยู่รอดไปวันๆ คนดูก็ไม่เกิดกระบวนการคิด ก็ชอบที่จะดูรายการอะไรที่ไม่ต้องคิด วังวนแบบนี้ คนที่มีชุดความรู้ที่ด้อยกว่าจึงถูกปกครองง่าย แล้วแต่เค้าจะอธิบายอะไรก็ได้ เราไม่พยายามแม้แต่จะตีความเองบ้าง จึงอย่าได้หวังเลยว่า เมื่อไหร่เราจะเริ่มตั้งคำถามเองแล้วพยายามเข้าถึงความรู้ด้วยวิธีอื่นๆที่เค้าไม่ได้จัดข้อมูลไว้ให้บ้าง เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นที่ “พวกมัน” ไม่ต้องใช้ เงิน ปืน รถถัง หรือเทพ มาปกครองเรา.

25/10/2009

ล้อต๊อกหรืออริสโตเติล

 by SiameseMinority @ 07. Sep. 2009. – 17:14:10 “ตลก คือการฝ่าฝืนจากความเป็นปกติ หรือการกระทำในสิ่งที่มันไม่น่าจะเป็น” ข้อความข้างบน เป็นเนื้อหาใจความที่ทั้งอริสโตเติลและล้อต๊อกเคยพูดเอาไว้ คราวนี้ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ไม่ว่าเมื่อยามเราอยากเอาไปอ้าง หรือเอาไปถือเป็นคำสอนในการปฏิบัติ เราจะอ้างอิงใคร เช่นเดียวกับการทำงานวิจัย มันดูเหมือนว่า ยิ่งเราเข้าใกล้องค์ความรู้ที่ผลิตหรือขโมยมาโดยฝรั่งมากเท่าไหร่ เรายิ่งไม่กล้าอ้างอะไรที่เกี่ยวข้องหรือมีต้นตอมาจากสิ่งที่ใกล้ตัวเราเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เท่าๆกับน่ากลัว เพราะก่อนที่ฝรั่งจะสร้างองค์ความรู้อะไรที่เป็นของตัวเค้า (แต่ดันพยายามเอาไปอธิบายโลกและครอบงำโลกเรื่อยมานี้) ฝรั่งเองก็ต้องหาองค์ความรู้ที่มีอยู่ก่อนหน้าแล้ว และองค์ความรู้ที่ว่านี้ มันไม่ได้ออกเป็นลูกอยู่บนต้นไม้หรือว่ายอยู่ในน้ำ แต่มันอยู่ในภาษาที่มนุษย์ประดิษฐ์ไว้สื่อสารกัน ถ้าเป็นแบบนั้น ลองนึกดูสิ ภาษาที่เก่าแก่ ก็คงไม่พ้น จีนหรืออาหรับใช่มั้ย ดังนั้นที่บอกว่าน่ากลัวก็เพราะว่า ระบบการอ้างอิงในงานวิจัยมันเกิดมาก็หลังจากที่พวกฝรั่งที่ไม่เคยอ้างองค์ความรู้จากอารยธรรมดั้งเดิมก่อนหน้าเลย และเมื่อพวกฝรั่งได้เริ่มก่อร่างองค์ความรู้ ว่าเป็นของตัวเองแล้ว คราวนี้ ก็สร้างระบบการอ้างอิงขึ้นมา ตรงนี้เองที่ระบบการครอบงำโดยองค์ความรู้อย่างฝรั่ง ได้เริ่มแผ่กว้างคลุมทับองค์ความรู้ที่เหลือของวัฒนธรรมอื่นๆ คำถามคือ ในเมื่อการวิจัยได้พยามค้นคว้าหาองค์ความรู้ โดยเฉพาะในช่วงยุคหลังสมัยใหม่นี้ (นี่ก็เป็นวิธีแบ่งกระบวนทัศน์แบบฝรั่งเช่นกัน)ซึ่งได้พยายามเอา บริบทเข้ามาทำความเข้าใจองค์ความรู้นั้นๆ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะพัฒนาองค์ความรู้ให้เป็นของเรา ปักฐานตรงที่ความรู้ของเราได้แตกหน่อแล้วอ้างอิงอย่างเป็นระบบ แต่ก็นั่นแหละ หากว่าเสรีภาพในการตั้งคำถามและหาคำตอบ ยังเป็นแบบที่เราๆ ท่านๆเห็นอยู่แบบนี้ ก็สมควรแล้ว ที่จะต้องอม(หมาก)ฝรั่งกันต่อไป เพื่อความปลอดภัยของตัวและเจ็ดชั่วโคตรของเราไง

09/09/2009

กฎหมายคนพิการ ฤๅ กฎหมายของ “คนอื่น”

ของคนพิการ” คนปกติโปรด…สำนึก จาก มติชน 6 พย. 2550

“เตรียมเผยโฉมทางเท้าใหม่เพื่อคนพิการ ถ.ราชดำริ” จาก http://www.newswit.com 9/08/2550

ดูเหมือนว่าหัวข้อข่าวข้างบนจะทำให้เราตั้งคำถามว่า “ของคนพิการ” ไม่ใช่ของของคนปกติ? ทางเท้าเพื่อคนพิการ เป็นทางเท้าแบบไหน? คนพิการคือใคร?

ในช่วงสามสิบปีมานี้ แวดวงการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ทั้งหลายได้เริ่มเข้าใจว่า มนุษย์มีความหลากหลาย และต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ในสังคมเดียวกัน

ในสังคมไทย ดูเหมือนจะชินกับความหลากหลาย(ส่วนจะยอมรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เพราะเป็นสังคมที่ระบบชนชั้นค่อนข้างชัดเชน คำว่าชนชั้นในสังคมไทย อาจถูกแบ่งด้วยระยะความใกล้หรือห่างกับชนชั้นสูง อาจถูกแบ่งด้วยเชื้อชาติ (เช่น ไทยจีน ไทยลาว ไทยอิสาน ไทยล้านนา ไทยมุสลิม กระเหรี่ยง พม่า) อาจถูกแบ่งด้วยระยะ+โอกาสการเข้าถึงเศรษฐกิจ เงินในกระเป๋า อาจถูกแบ่งด้วยความรู้ (เช่น ความรู้กระแสหลักหรือไม่ใช่) หรือแม้แต่แบ่งด้วยลักษณะความสามารถทางกาย สติปัญญา (เช่น ถูกระบุว่าพิการหรือไม่พิการ) ต่างๆที่กล่าวมานี้เป็นการสร้างเส้นแบ่งด้วย ภาษา กระบวนการทางสังคมทั้งสิ้น ไม่มีอันไหนจริง หรือถูก หรือดีกว่าอันไหน

เมื่อมีระบบจินตกรรมชนชั้นแบบนี้ คนในสังคมมีแนวโน้มที่จะวิ่งหาชนชั้นที่ปลอดภัย เช่น เป็นชนชั้นที่ทำให้เข้าถึงทรัพยากรได้ง่าย จนทำให้คนบางกลุ่มที่วิ่งตามไม่ทัน ถูกเหวี่ยงไปอยู่ที่ชายขอบ คำว่า “คนชายขอบ” นั้นฟังดูเหมือนเป็นคนจำนวนน้อย แต่จริงๆแล้วนับได้ว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม (ในแง่ปริมาณไม่ใช่เสียงดัง) คนในสังคมส่วนใหญ่ที่ต้องวิ่งหาที่อยู่ของตัวเอง ไม่มีเวลาหรือความสนใจที่จะมองว่าปัญหาของคนชายขอบเป็น “ปัญหา” เพราะหลายเรื่องถูกกด บีบ เหยียบไว้ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ที่หมุนเร็วมาก ดังนั้น คนในสังคมไทย(ส่วนหนึ่ง)จึงมองว่าปัญหาของคนชายขอบเป็นปัญหาของ “คนอื่น” ที่อยู่พ้นเส้นขอบชนชั้นที่ตัวเองขีดแบ่งเอาไว้

“เช่นเดียวกันกับปัญหา ของ คนพิการ” จะสังเกตว่าการใช้ภาษาเช่นนี้ก็เป็นการมองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของคนเฉพาะกลุ่ม การมีกฎหมายที่ระบุว่าเป็นกฎหมายคนพิการ หรือ เพื่อคนพิการก็แล้วแต่ ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะคนพิการมีที่ยืนในการพัฒนา ในด้านกฏหมาย หรือคนพิการมีกฎหมายเป็นแผนที่บอกทาง (ความคิดของคุณกฤษณะ) แต่อีกแง่หนึ่ง เมื่อคนในสังคมทราบว่าคนพิการมีกฎหมายประกันสิทธิความเป็นมนุษย์ไว้แล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาที่เหลือก็กลับไปเป็นเรื่องของคนพิการหรือ “คนอื่น” อีก(ประชากรกว่า 60ล้านคน มีคนพิการประมาณ 10เปอร์เซ็นต์—คนที่มากกว่า ย่อมมองคนที่ไม่อยู่ในกลุ่มว่าเป็นคนอื่น)

การที่เรามองว่าคนพิการเป็น “คนอื่น” ไม่ใช่พวกเรา เป็นปัญหาสำคัญ เมื่อคนอื่นกลายเป็นคนชายขอบทำให้เราจะไม่สนใจพวกเขา ไม่รู้สึกอะไรเมื่อเห็นเขาถูกเอาเปรียบหรือถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม หนทางที่จะลดการมองคนพิการเป็นคนอื่นได้ อย่างแรกเราต้องยอมรับก่อนว่า คนในสังคมมีความหลากหลาย ตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากสภาพกายที่ไม่มีทางเลี่ยงที่มันจะเสื่อมไปแล้ว โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรก็เป็นเรื่องไม่แน่นอน ความเจ็บป่วย ความพิการเป็นความกลัวของมนุษย์ที่หนีไม่พ้น ดังนั้นนอกจากต้องยอมรับความไม่แน่นอนตรงนี้แล้ว คนพิการต้องอยู่ในทุกๆส่วนย่อยของสังคมด้วย ในกระบวนการก่อร่างสร้างกฏหมายได้คำนึงถึงความหลากหลายตรงนี้แค่ไหน มีคนพิการในกระบวนการร่างกฎหมายเป็นพลังหรือเป็นคอมมิซซาร์ (Commissar)(Aeusrivongse, 2007)?

ขอจบด้วยการยกตัวอย่างประสบการณ์ ของอานันท์ กาญจนพันธุ์ เรื่องการยอมรับความหลากหลายของกระบวนการยุติธรรมของศาลในประเทศออสเตรเลีย “เมื่อมีการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับชนเผ่าอะบอริจิ้น จะต้องมีนักมานุษยวิทยานั่งข้างๆบังลังค์ของผู้พิพากษา เพื่อคอยแนะนำ ให้คำปรึกษาและถกเถียงกับผู้พิพากษา ลักษณะแบบนี้เรียกว่า กฎหมายเชิงซ้อน (Legal pluralism) หมายความว่าจะต้องฟังกฎอื่นๆในการพิจารณาในเรื่องเดียวกัน เช่น กฎหมายก็ว่า ชาวบ้านเข้าใจอย่างไรก็ต้องเอามาพิจารณาร่วมกัน”(Wahn-geaw et al., 2001)

อ้างอิง

Aeusrivongse, N. (2007) ‘Under Communist Conscience [in Thai, Communist Tai Samneuk]’, Matichon Weekly, 30 Nov.-6 Dec 2007, p.91-92.

Wahn-geaw, S., Tarmthai, M. and Ganjanapan, A. (2001) Memorial of Supachai Chareunwong. Centre of Feminism Studies, Chiangmai University:Midnight University.

 

 

10/08/2009

ตัวแบบความพิการจากสังคม

 

ความเป็นมาเป็นไปของ ตัวแบบความพิการทางสังคม(Social Model of Disability) กับสังคมไทย

 

ความหมายและความเข้าใจที่มีต่อความบกพร่องทั้งทางร่างกายและสติปัญญานั้น ได้ ถูกนำเสนอออกมาในสังคมไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมใดมาช้านานแล้ว ความพิการไม่ว่าจะผ่านมุมมองทางศาสนาว่าเป็นเรื่องเวรกรรม, พระเจ้ากำหนด, หรือเป็นความแปลกประหลาด, หรือความพิเศษ, หรือความโชคร้ายต่างๆนานา ล้วนแล้วแต่วางอยู่บนพื้นฐานที่ขาดซึ่งความเคารพในฐานะเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมด้วยกันทั้งสิ้น มีตัวแบบทางความคิดหลายชุด ที่ได้ถูกก่อร่างขึ้นมา โดยเฉพาะในสังคมประเทศตะวันตกแต่ก็ไม่ได้ต่างกันมากในสังคมตะวันออก ตั้งแต่ตัวแบบที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาหรือระบบคุณธรรม (Religious/Moral Model), ต่อมาคือตัวแบบทางการแพทย์หรือพันธุกรรม (Medical/Genetic Model) ซึ่งเป็นชุดความคิดที่เกิดพร้อมๆกับความเจริญทางการแพทย์, จนกระทั่งล่าสุด เป็นการมองความพิการที่เกี่ยวโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกกันว่า ตัวแบบความพิการทางสังคม (Social Model of Disability)

ชุดความคิดและตัวแบบที่ได้กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่สังคมช่วยกันสร้างขึ้น (ตามมุมมองของกลุ่มแนวคิด Social Constructionism) อีกทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนด กะเกณฑ์วิธีการที่สังคมนั้นจะพึงปฏิบัติต่อสมาชิกสังคมที่ทุพพลภาพ ตัวแบบที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในสังคมไทย คือ ตัวแบบที่มาจากการตีความทางศาสนาและตัวแบบทางการแพทย์ การตีความทางศาสนาเรื่องคำสอนของพุทธศาสนาให้มีสติต่อสิ่งที่กำลังกระทำในปัจจุบันขณะ กลับเป็นการตีความให้กลัวผลของการกระทำ โดยเฉพาะการสรุปอย่างผิวเผิน ถึงความพิการในปัจจุบันว่าเป็นกรรมที่มาจากการกระทำในอดีต ที่ไม่เคยรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่ และสร้างสมเป็นความเชื่อว่า หากยอมรับกรรม(ความพิการ)เสียในชาตินี้ ก็จะได้ไม่ต้องเจออีกในชาติหน้า ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่สามารถมีอิทธิพลต่อความเชื่อในปัจจุบันนั้น มาจากสิ่งที่ไม่สามารถรู้หรือพิสูจน์ได้ทั้งในอดีตและในอนาคต สำหรับตัวแบบทางการแพทย์ เป็นอิทธิพลของชุดความคิดที่มาพร้อมๆกับการพัฒนาทางการแพทย์สมัยใหม่ เทคนิควิธีใหม่ๆ ช่วยให้มนุษย์รู้จักสาเหตุของความพิการ เช่น เชื้อโรคกรณีเป็นโปลิโอ พบว่ามาจากเชื้อโรค ไม่ใช่เพราะชาติที่แล้วไปตีขากบมาจึงขาลีบในชาตินี้, คนที่ร่างกายบกพร่อง เช่น ขาขาด ก็สามารถทำขาเทียมมาใส่ได้ เพราะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น ความคิดชุดนี้ ให้อำนาจแก่กลุ่มสายอาชีพแพทย์มาก มีอำนาจในการวินิจฉัย ตัดสิน ชี้ขาด และจัดกลุ่มคนที่มีกายและสติปัญญาขาดพร่องได้ คนพิการถูกจัดเป็นประเภทต่างๆ โดยผ่านการรับรองของแพทย์


ชุดความคิดที่มีอิทธิพลจากการตีความทางศาสนาและการพัฒนาทางการแพทย์ทั้งสองนั้น มีความเหมือนและต่างกัน กล่าวได้ดังนี้ สิ่งที่แตกต่างคือ ตัวแบบทางการแพทย์สามารถอธิบายสาเหตุความพิการได้เป็นรูปธรรมกว่าตัวแบบอิทธิพลทางศาสนา แต่อย่างไรก็ดี ต้องนับว่าทั้งสองชุดความคิด สามารถอธิบายสาเหตุของความพิการได้เหมือนกัน ส่วนจะจริงแท้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของแต่ละสังคม เช่น ในสังคมหนึ่งเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า คนที่ตาบอดเพราะชาติที่แล้วหรือชาตินี้ เคยยิงตานกมา ในเวลาเดียวกัน อีกสังคมหนึ่ง ก็อาจเชื่อว่า คนที่ตาบอดเพราะเซลล์บางส่วนทำงานผิดปกติ หรือขาดหายไป เพียงแต่ว่าในสังคมแรกไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตาหรือกล้องขยายกำลังสูง ส่วนในสังคมที่สอง หลายๆครั้งความเจ็บป่วย พิการ ก็หาสาเหตุไม่เจอก็มี สิ่งที่เหมือนกันอย่างที่สำคัญคือ ทั้งสองตัวแบบ มองความบกพร่อง ความพิการ เป็น “เรื่องของแต่ละบุคคล” เป็นเรื่องของคนคนนั้นที่เกิดมาไม่มีแขน หรือได้รับอุบัติเหตุจึงเดินไม่ได้เอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสังคมโดยรวม คนที่มีความขาดพร่องกับคนที่ไม่มี จึงไม่เท่ากัน คนที่มีความพิการ จึงต้องเป็นผู้ที่คอยรับความช่วยเหลือจากคนที่สมบูรณ์กว่าในสังคม เป็นภาระที่สังคมต้องดูแล ด้วยชุดความคิดนี้เอง จึงเกิด สถาบัน เช่น โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ มูลนิธิของเศรษฐีที่ตั้งเพื่อรับคนที่ขาดพร่องมาดูแลหรือบริจาคทรัพย์ หรือสถาบันที่เล็กที่สุด คือครอบครัวก็ต้อง “เก็บ” คนพิการด้วยความอายและ/หรือ เพราะเชื่อว่าคนพิการไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมเองได้ สิ่งที่คนในสังคมปฏิบัติกับคนพิการทั้งสองตัวแบบ (ศาสนาและการแพทย์) คือ ทำบุญ สงเคราะห์ด้วยทรัพย์ต่างๆ ให้การรักษาพยาบาล สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ควรได้รับการดูแลในสถาบัน การบริจาค ฯลฯ มุมมองเช่นนี้คนพิการทำหน้าที่เป็น ผู้รับ สังคมที่เหลือเป็น “ผู้ให้

กฏหมายกับเรื่องสิทธิในสังคมไทย

ในประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติและกฏกระทรวงหลายประการที่เกี่ยวโดยตรงกับคนพิการตั้งแต่ 1991 เป็นต้นมา ไม่ว่ากฏหมายเหล่านี้จะเกิดโดยความเข้าใจที่แท้จริงเรื่องความพิการของผู้มีอำนาจหรือไม่ก็ตาม กฏหมายเหล่านี้ก็ล้วนสามารถเป็นบันไดแต่ละขั้น ให้กับคนพิการและคนที่ทำงานเรื่องความพิการได้ฝึกหัดเพื่อขึ้นไปถึงสิทธิของตนเอง เช่น ในปี 2005 กฏกระทรวงที่ว่าด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ คนชรานั้น ก็ได้เป็นเครื่องมือในการรับประกันสิทธิในการเข้าถึงของคนพิการมาแล้ว ดังในกรณีของชาวเยอรมัน ชนะคดี ที่เจ้าของอาคารชุดไม่มีที่จอดรถและทางลาดสำหรับคนพิการ หรือในกรณีสถานีรถไฟฟ้าถึงแม้ไม่สามารถมีลิฟท์ครบทุกสถานีบนรถไฟฟ้า แต่ก็สามารถเป็นจุดผลักดันให้มีลิฟท์ในรถไฟฟ้าใต้ดิน และโครงการที่จะเกิดอีกในอนาคต

ในประเทศอังกฤษ มีกฎหมายชื่อ Disability Discrimination Act 1995 เมื่อแรกเริ่ม ได้บัญญัติความหมายของความพิการตามตัวแบบทางการแพทย์ กล่าวคือแบ่งความพิการตามลักษณะอาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ อย่างไรก็ดี ก็ได้เกิดการประท้วงชุดความคิดนี้โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิคนพิการ ผลของการขับเคลื่อนคราวนั้น ได้เกิดชุดความคิดตัวแบบความพิการทางสังคมหรือชุดความคิดสิทธิมนุษยชน ตัวแบบความพิการทางสังคมนี้ได้เริ่มพัฒนาในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 (ประมาณ พ.ศ. 2503-2513) โดยอาจารย์/นักวิชาการในมหาวิทยาลัย Michael Oliver ซึ่งมีความพิการด้วย เค้าได้ปรับแนวความคิดนี้จากหนังสือ Fundamental Principles of Disability จัดทำโดย the Union of Physically Impaired against Segregation (UPAIS) แนวความคิดตัวแบบความพิการทางสังคมโต้แย้งการกดขี่ทั้งทางทัศนคติและการกระทำที่เกิดจากชุดความคิดพิการของการแพทย์ ต้องการถ่ายโอนการกล่าวโทษความพิการว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลให้ไปเป็นเรื่องของสังคมที่ไม่ยุติธรรมและสังคมเป็นผู้กดขี่ ระรานต่อความพิการแทน ในปัจจุบัน ตัวแบบความพิการทางสังคมได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมประเทศตะวันตกที่เคยตีตราความพิการแบบดั้งเดิม การขับเคลื่อนได้รับการสนับสนุนที่ดีจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน มีผลให้กำแพงที่สร้างโดยตัวแบบความพิการจากการแพทย์ลดถอยลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นหนทางอีกยาวไกล

ทำความเข้าใจกับตัวแบบความพิการทางสังคม Understanding Social Model of Disability

แนวความคิดตามตัวแบบความพิการทางสังคมนี้ หาไม่เป็นแบบแผนชัดเจนเขียนแบบแผนภูมิได้ดังเช่น การถ่ายทอดตัวแบบทางจิตวิทยาหรือสังคมวิทยาตามแบบดั้งเดิม แต่มันคือแนวความคิดเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเมืองของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เห็นแย้งกับตัวแบบความพิการของการแพทย์ที่ถูกใช้โดยนักวิชาชีพแพทย์โดยทั่วไป

ตัวแบบความพิการทางสังคม ได้แยกความแตกต่างระหว่าง ความเจ็บป่วย/ทุพพลภาพ กับความพิการไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

ทุพพลภาพ/เจ็บป่วย คือการสูญเสียการทำงานของอวัยวะ ระยางค์ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย รวมทั้งกลไลการทำงานของระบบความคิด สติปัญญามีความขาดพร่องไป

ความพิการ คือ ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของ หน่วย, ภาคส่วน, องค์กร อันใดอันหนึ่งในสังคมที่ละเลย และไม่ใส่ใจว่าในสังคมนั้นมีสมาชิกที่มีภาวะทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยอยู่

การแยกแยะความต่างให้เห็นระหว่าง ทุพพลภาพกับความพิการเป็นแนวคิดที่ฝังตรึงอยู่ใน กลุ่มแนวคิดสังคมคือตัวกำหนด (Social Constructivism)
[ปรัชญาที่เป็นพื้นฐานของตัวแบบความพิการทางสังคม] ประเด็นต่างที่สำคัญคือ ความเจ็บป่วย/ทุพพลภาพ เป็นสิ่งที่จับต้องได้เป็นจริง ที่ต้องมีในทุกสังคมและสามารถเกิดได้กับทุกคน ส่วนความพิการนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละสังคมกำหนด สร้างขึ้น ความพิการมาจากภาษาที่ใช้เรียก ซึ่งสะท้อนว่าสังคมนั้นคิดอย่างไร ต่อความพิการ, การสร้างวาทกรรมและการหักคอให้คนพิการรับข้อจำกัดต่างๆ ในสภาพแวดล้อมรอบๆในช่วงเวลาและสถานที่ อันใดอันหนึ่งว่าเป็นความผิดของคนพิการเอง ไม่ใช่สภาพแวดล้อม [บริบท]

ตัวแบบความพิการทางสังคม(Social Model of Disability) เป็นชุดความคิดที่ตระหนักดีว่า สภาวะทางกายและสติปัญญาแตกต่างกันของแต่ละคนนั้น มีผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆทางสังคมแตกต่างกันด้วย ซึ่งตัวแบบทางสังคมนี้ เสนอแนะว่า “ตัวสังคม” ต่างหากที่เป็นสาเหตุให้เกิดความสามารถที่แตกต่างของคนเหล่านั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง แต่ละคนจะไม่ใช่คนพิการจากภาวะทุพพลภาพของเขา แต่จากอุปสรรคต่างๆที่อยู่ในสังคมที่ไม่ใส่ใจความสามารถที่เหลือหรือความต้องการ/จำเป็นของคนทุพพลภาพเหล่านั้น อุปสรรคที่กล่าวนี้ สามารถแจงได้เป็นสามประเภท คือ อุปสรรคที่แฝงอยู่ในความคิดทัศนคติ, สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่จับต้องได้, และสภาพแวดล้อมทางสังคม/วัฒนธรรม/การเมือง/เศรษฐกิจ

ขอยกตัวอย่างอุปสรรคที่เกิดในสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่สร้างข้อจำกัดหรือความพิการ ให้กับคนที่มีภาวะทุพพลภาพ ดังนี้ เพราะอาคารสถานที่ทั้งหลายได้ถูกออกแบบและสร้างโดยคนที่ไม่มีภาวะทุพพลภาพ จึงมีโอกาสมากที่จะสร้างความพิการให้กับคนที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นสถานที่เหล่านั้นจึงสร้างความพิการให้กับหลายคน เช่น คนใช้วีลแชร์ เค้าจะกลายเป็นคนพิการเมื่อสถานที่นั้นๆ ไม่มีทางลาด ไม่มีลิฟท์ ประตูและทางสัญจรแคบกว่าที่วีลแชร์จะผ่านไปได้ ส่วนคนที่สายตาเลือนลางหรือมองไม่เห็น เค้าจะกลายเป็นคนพิการเมื่อ สถานที่นั้นๆ ไม่มีระบบเสียงเมื่อต้องข้ามถนน, ไม่มีอักษรเบลล์ที่ป้ายต่างๆ, หรือไม่มีผิวทางเท้าคอยเตือนเมื่อเจอทางต่างระดับ, คนที่สูญเสียการได้ยินจะถูกยัดเยียดความพิการให้เมื่อสถานที่นั้นๆ ไม่มีป้ายบอกทางเลย, หรือเมื่อคนรอบๆข้างไม่มีความพยายามที่จะสื่อสารกับเขา เช่น ภาษามือหรือการเขียน

ในกลุ่มแนวความคิดสังคมเป็นผู้กำหนดสร้าง (Social Constructivism) นั้น ได้มองว่าสถานที่ใดก็ตามที่ไม่เอื้อต่อคนพิการ มันกำลังแยกเอาคนพิการออกจากสังคมของเค้า มีสองเจตนาด้วยกันคือ 1) สถานที่เหล่านั้น ได้ถูกออกแบบเพื่อ “เก็บ” คนพิการ ให้อยู่ในที่ที่เค้าควรอยู่
เช่น สถานพยาบาลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน หรือบ้านซึ่งคนพิการไม่สามารถออกไปไหนได้ เพราะไม่มีทางลาด ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ 2) สถานที่เหล่านั้นสร้างเรื่องหรือสื่อสารให้คนพิการรู้ว่า “คนพิการไม่ควรจะอยู่ตรงนั้น” เช่น สถานที่สาธารณะต่างๆ ห้าง,สนามบิน, โรงแรมหรู, โรงภาพยนตร์, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, ผับ, ที่ว่าการอำเภอ, ธนาคาร, สนามกีฬา, ร้านค้า ที่มีบันไดสูงหลายขั้น โดยไม่มีทางลาดหรือลิฟท์ ไม่มีป้ายบอกทางที่ชัดเจน ทางสัญจรแคบ มืด ขรุขระ หลายครั้งที่มีการเรียกร้องเพื่อให้มีสิ่งอำนวยความจำเป็นในการเข้าถึง ตามระบุในกฏหมาย เจ้าของโครงการมักให้เหตุผลว่า “ไม่เคยมีและไม่น่ามีคนพิการมาใช้” จึงยังไม่คิดว่าคุ้มค่าที่จะปรับเปลี่ยนกายภาพเหล่านั้น และนายจ้างก็ยินดีจ่ายค่าปรับแทนการจัดเตรียมสิ่งเหล่านั้น กฏหมายและคนพิการจึงถูกกดขี่โดยสองเจตนาที่แฝงอยู่ในสังคมเหล่านี้ หรือจริงๆแล้ว คำกล่าวเหล่านั้นเป็นการบิดเบือนความคิดที่ว่า ” คนพิการไม่ควรมาอยู่ตรงนี้” การออกแบบอาคารสถานที่เหล่านั้น ด้วยขั้นบันไดสวยงาม ป้ายบอกทางเล็กจิ๋ว ประตูเล็กแคบ หลายครั้งเป็นที่เข้าใจได้ว่า เป็นการสื่อทางอ้อมไปถึงคนพิการว่า “เราไม่ต้อนรับคุณ”

การที่คนพิการถูกกระบวนการทางสังคมแยกออกไปจากสังคมกระแสหลัก เกิดในหลายกระบวนการทางสังคม ได้แก่

1) คนพิการถูกทำให้อยู่ในสภาวะ “ไร้อำนาจ” ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะประชาชน คนพิการถูกแยก/ถูกปฏิเสธ ออกจากกระบวนการตัดสินใจที่มีผลทางการเมือง/การปกครองที่สำคัญๆมากมาย

2) คนพิการถูกทำให้เป็น “คนชายขอบ” ของสังคมที่เค้าอยู่ คนพิการต้องถูกเกณฑ์ให้ไปอยู่ในที่พักอาศัยที่ไร้มาตรฐานในการดำรงชีวิต ถูกปฏิเสธที่จะเข้าถึงสถานที่และบริการที่เป็นสาธารณะ เช่น ระบบขนส่งมวลชน และคนพิการยังถูกจำกัดกรอบ ขอบเขตในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมกระแสหลัก ของสังคม เช่น ไปห้าง ไปผับ ไปวัด ไปดูภาพยนตร์ไม่ได้หรือไปได้อย่างลำบาก และเมื่อคนพิการกำลังทุลักทุเลกับทางที่ไม่สะดวก ก็ถูกคนผ่านไปมามอง ถูกนินทา ในที่สุด คนพิการก็โดนเหวี่ยงให้ไปอยู่ชายขอบเหมือนเดิม

3) นอกจากนี้คนพิการยังถูกแยกออกจากตลาดแรงงานที่สำคัญ โดยการเลือกปฏิบัติ และ/หรือสถานที่ทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยการเข้าถึงของคนพิการ คนพิการจึงได้ทำงานที่ค่าจ้างขั้นต่ำ หรืองานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก หรือ งานชั่วคราว/เป็นกะ (ไม่ใช่งานประจำ)

4) ความสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงอำนาจของคนพิการถูกสร้างผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม เช่น การกำหนดเกณฑ์ในการสร้างบรรทัดฐานของความ “เป็นปกติ” ให้เป็นความปกติของสังคม และใครที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่สังคมนั้นๆสร้าง คนคนนั้นก็กลายเป็น “คนอื่น-Others” หรือ ผิดปกติในสังคม ด้วยเหตุนี้ คนพิการจึงถูกสังคมสอนให้รู้ว่าควรอยู่ตรงไหน ถูกสั่งสมให้เข้าใจตรรกะและยอมรับต่อการถูกกดขี่และเอาเปรียบโดยสังคม และคิดต่อตัวเองว่าไร้ค่า เหมาะสมกับที่ที่สังคมได้จัดให้ยืนแล้ว สุดท้าย คนพิการถูกสอนให้โทษตัวเอง ละอายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและหาคำตอบในความพิการของตัวเองเอง
สังคมลดคุณค่าคนพิการด้วยการสร้างอคติต่อคนพิการ อคติเหล่านั้นสามารถเห็นได้จากภาษา คำนิยาม คำเรียก คน/ความพิการ จากสื่อกระแสหลัก ที่ร่วมกันสร้างภาพตีตราคนพิการว่า เดียงสา หรือไม่ก็มีความพิเศษ หรือไม่ก็อ่อนแอ ต้องพึ่งพา เป็นภาระแก่สังคม ฯลฯ

เราต้องทบทวนว่ารัฐได้พยายามมองเรื่องความพิการให้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล การที่รัฐมองเช่นนี้ เห็นได้จากการใช้พรบ.ที่กำหนดความพิการตามตัวแบบการแพทย์ คนพิการต้องขึ้นทะเบียนตามประเภทความพิการ ย่อมเป็นการผลักภาระให้คนพิการหรือสังคมรอบๆคนพิการต้องดูแลกันเอง ไม่ใช่ความบกพร่องของรัฐ การให้เบี้ยยังชีพ ซึ่งไม่สามารถยังชีวิตได้จริง การจัดสรรสวัสดิการยังอยู่บนแนวความคิดของรัฐคือ ผู้ให้ ผู้สงเคราะห์

การจัดการเรื่องการกระจายทรัพยากรในสังคมก็ขึ้นอยู่กับการมองความพิการของรัฐ (กลไกสำคัญอันหนึ่งของสังคม) ด้วย เช่น 1) มองคนพิการเป็น คนป่วย คนพิการก็ต้องกลายเป็นผู้รับความช่วยเหลืออาจต้องไปอยู่ในสถาบันที่รัฐจัดให้ และเสี่ยงที่จะถูกมองเป็นภาระสังคมมาก 2) มองคนพิการเป็น ประชาชน ที่ด้อยเปรียบคนพิการก็ยังเป็นผู้รับ หากแต่ในฐานะที่เป็นประชาชนของรัฐนั้น เป็นสิทธิพึงมี และในฐานะที่คนพิการก็ทำงานจ่ายภาษี แต่คนพิการที่ไม่มีงานทำก็จะถูกเหยียดและมองตนเองไร้ค่า บทความนี้จึงขอเสนอ มุมมองที่ 3) มองคนพิการเป็น มนุษย์ คนพิการก็ไม่มีในสังคม เพราะทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ป่วยและตาย รัฐจะจัดสวัสดิการที่ เรียกว่า ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน (โปรดศึกษาเพิ่มเติมในงานของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์) ทุกคนในสังคม คนของรัฐเมื่อต้องเจอกับอุปสรรคในการดำเนินชีวิต เช่น ค่าคลอดลูก ไปโรงเรียน รักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย มีอาหารที่มีคุณภาพกิน หรือแม้เมื่อพิการ รัฐก็จะจัดสรรการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เพราะทุกคน คือ มนุษย์ ที่เท่าเทียมกัน

สรุปเสนอแนะ

ในสังคมไทย เป็นสังคมที่มีพลวัตรและหลากหลาย เรายังคงเห็นแนวความคิดทั้งสามตัวแบบเกิดอยู่ในสังคมในช่วงเวลาเดียวกัน เราสามารถเห็นสาวสมัยใหม่ไปไหว้เจ้า ทำบุญ ขอให้หายเจ็บป่วยอยู่ที่ศาลข้างๆโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์เอ๊กซเรย์ ผ่าตัดหรือปลูกถ่ายไขกระดูกที่ทันสมัย และเรายังสามารถเห็นกลุ่มคนทำงานที่เรียกร้องเรื่องพิทักษ์สิทธิ์ทั้งคนและสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากมายในสังคมไทย ข้าพเจ้าไม่เห็นความจำเป็นที่สังคมต้องละทิ้งชุดความคิดใดชุดความคิดหนึ่ง การเห็นอกเห็นใจและทำทานต่อเพื่อนร่วมสังคมก็เป็นสิ่งที่ดีงาม การใช้เครื่องมือทางการแพทย์หาสาเหตุและรักษาความบกพร่องของสภาพร่างกายและปัญญาก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น การช่วยให้สังคมมองและเข้าใจเรื่องสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความตั้งใจ และความพยายามอีกมาก แต่ก็ต้องทำ

แต่สิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะมองไปที่ตัวแบบใด (ศาสนา/การแพทย์/ทางสังคมหรือสิทธิมนุษยชน) เราต้องทำความเข้าใจกับ อำนาจที่แฝงอยู่หลังการกระทำตามชุดความคิดเหล่านั้น เช่น การทำบุญ ให้ทานกับเพื่อที่พิการในสังคม เป็นการสร้างฐานอำนาจและความชอบธรรมทางสังคมหรือไม่ เช่นเดียวกับการมีสถาบันเพื่อดูแลคนพิการ จะกลายเป็นการสร้างกรอบเชิงพื้นที่และสังคม เป็นข้อจำกัดชีวิตของคนพิการหรือไม่ การเรียกร้องสิทธิต่างๆ เป็นเสียงที่คนพิการได้มีส่วนออกเสียงแค่ไหน มีคนพิการมากน้อยแค่ไหนอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนเหล่านั้น ไม่เช่นนั้น คนพิการ หรือ เรื่องความพิการ เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเพื่อหาความชอบธรรมต่อกลไกไปถึงอำนาจเท่านั้น ถึงแม้มีข้อกังขาว่า ต่อให้เป็นคนพิการทำงานเองก็อาจไม่สามารถพิทักษ์สิทธิคนพิการได้ อันนี้ก็ต้องใช้เวลา ประสบการณ์แต่ละคนต้องตกตะกอน
หลายคนกล่าวว่า แนวความคิดมองคนพิการเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องยากเกินกระทำได้ ในสังคมไทย เป็นยุคพระศรีอาริย์ (Utopian thought) ท้ายที่สุด เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์อยู่ได้ด้วยความหวัง และทำความหวังนั้นให้เป็นจริง บนความจริงที่มีอยู่ในมือของทุกคนเท่านั้นเอง เรื่องหลายเรื่องต้องอาศัยเวลาและเทศะที่เหมาะสม เช่น คนคงหาว่าบ้า ถ้าหากไปบอกชาวอเมริกันที่ใช้ทาสผิวดำอยู่ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ว่าครั้งหนึ่งอเมริกันจะถูกปกครองโดยประธานาธิบดีผิวดำที่มีชื่อกลางอย่างชาวมุสลิม!

 

 

 

 

Blog at WordPress.com.