Something about Siamese minority

10/08/2009

ตัวแบบความพิการจากสังคม

 

ความเป็นมาเป็นไปของ ตัวแบบความพิการทางสังคม(Social Model of Disability) กับสังคมไทย

 

ความหมายและความเข้าใจที่มีต่อความบกพร่องทั้งทางร่างกายและสติปัญญานั้น ได้ ถูกนำเสนอออกมาในสังคมไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมใดมาช้านานแล้ว ความพิการไม่ว่าจะผ่านมุมมองทางศาสนาว่าเป็นเรื่องเวรกรรม, พระเจ้ากำหนด, หรือเป็นความแปลกประหลาด, หรือความพิเศษ, หรือความโชคร้ายต่างๆนานา ล้วนแล้วแต่วางอยู่บนพื้นฐานที่ขาดซึ่งความเคารพในฐานะเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมด้วยกันทั้งสิ้น มีตัวแบบทางความคิดหลายชุด ที่ได้ถูกก่อร่างขึ้นมา โดยเฉพาะในสังคมประเทศตะวันตกแต่ก็ไม่ได้ต่างกันมากในสังคมตะวันออก ตั้งแต่ตัวแบบที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาหรือระบบคุณธรรม (Religious/Moral Model), ต่อมาคือตัวแบบทางการแพทย์หรือพันธุกรรม (Medical/Genetic Model) ซึ่งเป็นชุดความคิดที่เกิดพร้อมๆกับความเจริญทางการแพทย์, จนกระทั่งล่าสุด เป็นการมองความพิการที่เกี่ยวโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกกันว่า ตัวแบบความพิการทางสังคม (Social Model of Disability)

ชุดความคิดและตัวแบบที่ได้กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่สังคมช่วยกันสร้างขึ้น (ตามมุมมองของกลุ่มแนวคิด Social Constructionism) อีกทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนด กะเกณฑ์วิธีการที่สังคมนั้นจะพึงปฏิบัติต่อสมาชิกสังคมที่ทุพพลภาพ ตัวแบบที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในสังคมไทย คือ ตัวแบบที่มาจากการตีความทางศาสนาและตัวแบบทางการแพทย์ การตีความทางศาสนาเรื่องคำสอนของพุทธศาสนาให้มีสติต่อสิ่งที่กำลังกระทำในปัจจุบันขณะ กลับเป็นการตีความให้กลัวผลของการกระทำ โดยเฉพาะการสรุปอย่างผิวเผิน ถึงความพิการในปัจจุบันว่าเป็นกรรมที่มาจากการกระทำในอดีต ที่ไม่เคยรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่ และสร้างสมเป็นความเชื่อว่า หากยอมรับกรรม(ความพิการ)เสียในชาตินี้ ก็จะได้ไม่ต้องเจออีกในชาติหน้า ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่สามารถมีอิทธิพลต่อความเชื่อในปัจจุบันนั้น มาจากสิ่งที่ไม่สามารถรู้หรือพิสูจน์ได้ทั้งในอดีตและในอนาคต สำหรับตัวแบบทางการแพทย์ เป็นอิทธิพลของชุดความคิดที่มาพร้อมๆกับการพัฒนาทางการแพทย์สมัยใหม่ เทคนิควิธีใหม่ๆ ช่วยให้มนุษย์รู้จักสาเหตุของความพิการ เช่น เชื้อโรคกรณีเป็นโปลิโอ พบว่ามาจากเชื้อโรค ไม่ใช่เพราะชาติที่แล้วไปตีขากบมาจึงขาลีบในชาตินี้, คนที่ร่างกายบกพร่อง เช่น ขาขาด ก็สามารถทำขาเทียมมาใส่ได้ เพราะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น ความคิดชุดนี้ ให้อำนาจแก่กลุ่มสายอาชีพแพทย์มาก มีอำนาจในการวินิจฉัย ตัดสิน ชี้ขาด และจัดกลุ่มคนที่มีกายและสติปัญญาขาดพร่องได้ คนพิการถูกจัดเป็นประเภทต่างๆ โดยผ่านการรับรองของแพทย์


ชุดความคิดที่มีอิทธิพลจากการตีความทางศาสนาและการพัฒนาทางการแพทย์ทั้งสองนั้น มีความเหมือนและต่างกัน กล่าวได้ดังนี้ สิ่งที่แตกต่างคือ ตัวแบบทางการแพทย์สามารถอธิบายสาเหตุความพิการได้เป็นรูปธรรมกว่าตัวแบบอิทธิพลทางศาสนา แต่อย่างไรก็ดี ต้องนับว่าทั้งสองชุดความคิด สามารถอธิบายสาเหตุของความพิการได้เหมือนกัน ส่วนจะจริงแท้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของแต่ละสังคม เช่น ในสังคมหนึ่งเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า คนที่ตาบอดเพราะชาติที่แล้วหรือชาตินี้ เคยยิงตานกมา ในเวลาเดียวกัน อีกสังคมหนึ่ง ก็อาจเชื่อว่า คนที่ตาบอดเพราะเซลล์บางส่วนทำงานผิดปกติ หรือขาดหายไป เพียงแต่ว่าในสังคมแรกไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตาหรือกล้องขยายกำลังสูง ส่วนในสังคมที่สอง หลายๆครั้งความเจ็บป่วย พิการ ก็หาสาเหตุไม่เจอก็มี สิ่งที่เหมือนกันอย่างที่สำคัญคือ ทั้งสองตัวแบบ มองความบกพร่อง ความพิการ เป็น “เรื่องของแต่ละบุคคล” เป็นเรื่องของคนคนนั้นที่เกิดมาไม่มีแขน หรือได้รับอุบัติเหตุจึงเดินไม่ได้เอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสังคมโดยรวม คนที่มีความขาดพร่องกับคนที่ไม่มี จึงไม่เท่ากัน คนที่มีความพิการ จึงต้องเป็นผู้ที่คอยรับความช่วยเหลือจากคนที่สมบูรณ์กว่าในสังคม เป็นภาระที่สังคมต้องดูแล ด้วยชุดความคิดนี้เอง จึงเกิด สถาบัน เช่น โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ มูลนิธิของเศรษฐีที่ตั้งเพื่อรับคนที่ขาดพร่องมาดูแลหรือบริจาคทรัพย์ หรือสถาบันที่เล็กที่สุด คือครอบครัวก็ต้อง “เก็บ” คนพิการด้วยความอายและ/หรือ เพราะเชื่อว่าคนพิการไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมเองได้ สิ่งที่คนในสังคมปฏิบัติกับคนพิการทั้งสองตัวแบบ (ศาสนาและการแพทย์) คือ ทำบุญ สงเคราะห์ด้วยทรัพย์ต่างๆ ให้การรักษาพยาบาล สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ควรได้รับการดูแลในสถาบัน การบริจาค ฯลฯ มุมมองเช่นนี้คนพิการทำหน้าที่เป็น ผู้รับ สังคมที่เหลือเป็น “ผู้ให้

กฏหมายกับเรื่องสิทธิในสังคมไทย

ในประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติและกฏกระทรวงหลายประการที่เกี่ยวโดยตรงกับคนพิการตั้งแต่ 1991 เป็นต้นมา ไม่ว่ากฏหมายเหล่านี้จะเกิดโดยความเข้าใจที่แท้จริงเรื่องความพิการของผู้มีอำนาจหรือไม่ก็ตาม กฏหมายเหล่านี้ก็ล้วนสามารถเป็นบันไดแต่ละขั้น ให้กับคนพิการและคนที่ทำงานเรื่องความพิการได้ฝึกหัดเพื่อขึ้นไปถึงสิทธิของตนเอง เช่น ในปี 2005 กฏกระทรวงที่ว่าด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ คนชรานั้น ก็ได้เป็นเครื่องมือในการรับประกันสิทธิในการเข้าถึงของคนพิการมาแล้ว ดังในกรณีของชาวเยอรมัน ชนะคดี ที่เจ้าของอาคารชุดไม่มีที่จอดรถและทางลาดสำหรับคนพิการ หรือในกรณีสถานีรถไฟฟ้าถึงแม้ไม่สามารถมีลิฟท์ครบทุกสถานีบนรถไฟฟ้า แต่ก็สามารถเป็นจุดผลักดันให้มีลิฟท์ในรถไฟฟ้าใต้ดิน และโครงการที่จะเกิดอีกในอนาคต

ในประเทศอังกฤษ มีกฎหมายชื่อ Disability Discrimination Act 1995 เมื่อแรกเริ่ม ได้บัญญัติความหมายของความพิการตามตัวแบบทางการแพทย์ กล่าวคือแบ่งความพิการตามลักษณะอาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ อย่างไรก็ดี ก็ได้เกิดการประท้วงชุดความคิดนี้โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิคนพิการ ผลของการขับเคลื่อนคราวนั้น ได้เกิดชุดความคิดตัวแบบความพิการทางสังคมหรือชุดความคิดสิทธิมนุษยชน ตัวแบบความพิการทางสังคมนี้ได้เริ่มพัฒนาในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 (ประมาณ พ.ศ. 2503-2513) โดยอาจารย์/นักวิชาการในมหาวิทยาลัย Michael Oliver ซึ่งมีความพิการด้วย เค้าได้ปรับแนวความคิดนี้จากหนังสือ Fundamental Principles of Disability จัดทำโดย the Union of Physically Impaired against Segregation (UPAIS) แนวความคิดตัวแบบความพิการทางสังคมโต้แย้งการกดขี่ทั้งทางทัศนคติและการกระทำที่เกิดจากชุดความคิดพิการของการแพทย์ ต้องการถ่ายโอนการกล่าวโทษความพิการว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลให้ไปเป็นเรื่องของสังคมที่ไม่ยุติธรรมและสังคมเป็นผู้กดขี่ ระรานต่อความพิการแทน ในปัจจุบัน ตัวแบบความพิการทางสังคมได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมประเทศตะวันตกที่เคยตีตราความพิการแบบดั้งเดิม การขับเคลื่อนได้รับการสนับสนุนที่ดีจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน มีผลให้กำแพงที่สร้างโดยตัวแบบความพิการจากการแพทย์ลดถอยลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นหนทางอีกยาวไกล

ทำความเข้าใจกับตัวแบบความพิการทางสังคม Understanding Social Model of Disability

แนวความคิดตามตัวแบบความพิการทางสังคมนี้ หาไม่เป็นแบบแผนชัดเจนเขียนแบบแผนภูมิได้ดังเช่น การถ่ายทอดตัวแบบทางจิตวิทยาหรือสังคมวิทยาตามแบบดั้งเดิม แต่มันคือแนวความคิดเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเมืองของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เห็นแย้งกับตัวแบบความพิการของการแพทย์ที่ถูกใช้โดยนักวิชาชีพแพทย์โดยทั่วไป

ตัวแบบความพิการทางสังคม ได้แยกความแตกต่างระหว่าง ความเจ็บป่วย/ทุพพลภาพ กับความพิการไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

ทุพพลภาพ/เจ็บป่วย คือการสูญเสียการทำงานของอวัยวะ ระยางค์ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย รวมทั้งกลไลการทำงานของระบบความคิด สติปัญญามีความขาดพร่องไป

ความพิการ คือ ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของ หน่วย, ภาคส่วน, องค์กร อันใดอันหนึ่งในสังคมที่ละเลย และไม่ใส่ใจว่าในสังคมนั้นมีสมาชิกที่มีภาวะทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยอยู่

การแยกแยะความต่างให้เห็นระหว่าง ทุพพลภาพกับความพิการเป็นแนวคิดที่ฝังตรึงอยู่ใน กลุ่มแนวคิดสังคมคือตัวกำหนด (Social Constructivism)
[ปรัชญาที่เป็นพื้นฐานของตัวแบบความพิการทางสังคม] ประเด็นต่างที่สำคัญคือ ความเจ็บป่วย/ทุพพลภาพ เป็นสิ่งที่จับต้องได้เป็นจริง ที่ต้องมีในทุกสังคมและสามารถเกิดได้กับทุกคน ส่วนความพิการนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละสังคมกำหนด สร้างขึ้น ความพิการมาจากภาษาที่ใช้เรียก ซึ่งสะท้อนว่าสังคมนั้นคิดอย่างไร ต่อความพิการ, การสร้างวาทกรรมและการหักคอให้คนพิการรับข้อจำกัดต่างๆ ในสภาพแวดล้อมรอบๆในช่วงเวลาและสถานที่ อันใดอันหนึ่งว่าเป็นความผิดของคนพิการเอง ไม่ใช่สภาพแวดล้อม [บริบท]

ตัวแบบความพิการทางสังคม(Social Model of Disability) เป็นชุดความคิดที่ตระหนักดีว่า สภาวะทางกายและสติปัญญาแตกต่างกันของแต่ละคนนั้น มีผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆทางสังคมแตกต่างกันด้วย ซึ่งตัวแบบทางสังคมนี้ เสนอแนะว่า “ตัวสังคม” ต่างหากที่เป็นสาเหตุให้เกิดความสามารถที่แตกต่างของคนเหล่านั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง แต่ละคนจะไม่ใช่คนพิการจากภาวะทุพพลภาพของเขา แต่จากอุปสรรคต่างๆที่อยู่ในสังคมที่ไม่ใส่ใจความสามารถที่เหลือหรือความต้องการ/จำเป็นของคนทุพพลภาพเหล่านั้น อุปสรรคที่กล่าวนี้ สามารถแจงได้เป็นสามประเภท คือ อุปสรรคที่แฝงอยู่ในความคิดทัศนคติ, สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่จับต้องได้, และสภาพแวดล้อมทางสังคม/วัฒนธรรม/การเมือง/เศรษฐกิจ

ขอยกตัวอย่างอุปสรรคที่เกิดในสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่สร้างข้อจำกัดหรือความพิการ ให้กับคนที่มีภาวะทุพพลภาพ ดังนี้ เพราะอาคารสถานที่ทั้งหลายได้ถูกออกแบบและสร้างโดยคนที่ไม่มีภาวะทุพพลภาพ จึงมีโอกาสมากที่จะสร้างความพิการให้กับคนที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นสถานที่เหล่านั้นจึงสร้างความพิการให้กับหลายคน เช่น คนใช้วีลแชร์ เค้าจะกลายเป็นคนพิการเมื่อสถานที่นั้นๆ ไม่มีทางลาด ไม่มีลิฟท์ ประตูและทางสัญจรแคบกว่าที่วีลแชร์จะผ่านไปได้ ส่วนคนที่สายตาเลือนลางหรือมองไม่เห็น เค้าจะกลายเป็นคนพิการเมื่อ สถานที่นั้นๆ ไม่มีระบบเสียงเมื่อต้องข้ามถนน, ไม่มีอักษรเบลล์ที่ป้ายต่างๆ, หรือไม่มีผิวทางเท้าคอยเตือนเมื่อเจอทางต่างระดับ, คนที่สูญเสียการได้ยินจะถูกยัดเยียดความพิการให้เมื่อสถานที่นั้นๆ ไม่มีป้ายบอกทางเลย, หรือเมื่อคนรอบๆข้างไม่มีความพยายามที่จะสื่อสารกับเขา เช่น ภาษามือหรือการเขียน

ในกลุ่มแนวความคิดสังคมเป็นผู้กำหนดสร้าง (Social Constructivism) นั้น ได้มองว่าสถานที่ใดก็ตามที่ไม่เอื้อต่อคนพิการ มันกำลังแยกเอาคนพิการออกจากสังคมของเค้า มีสองเจตนาด้วยกันคือ 1) สถานที่เหล่านั้น ได้ถูกออกแบบเพื่อ “เก็บ” คนพิการ ให้อยู่ในที่ที่เค้าควรอยู่
เช่น สถานพยาบาลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน หรือบ้านซึ่งคนพิการไม่สามารถออกไปไหนได้ เพราะไม่มีทางลาด ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ 2) สถานที่เหล่านั้นสร้างเรื่องหรือสื่อสารให้คนพิการรู้ว่า “คนพิการไม่ควรจะอยู่ตรงนั้น” เช่น สถานที่สาธารณะต่างๆ ห้าง,สนามบิน, โรงแรมหรู, โรงภาพยนตร์, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, ผับ, ที่ว่าการอำเภอ, ธนาคาร, สนามกีฬา, ร้านค้า ที่มีบันไดสูงหลายขั้น โดยไม่มีทางลาดหรือลิฟท์ ไม่มีป้ายบอกทางที่ชัดเจน ทางสัญจรแคบ มืด ขรุขระ หลายครั้งที่มีการเรียกร้องเพื่อให้มีสิ่งอำนวยความจำเป็นในการเข้าถึง ตามระบุในกฏหมาย เจ้าของโครงการมักให้เหตุผลว่า “ไม่เคยมีและไม่น่ามีคนพิการมาใช้” จึงยังไม่คิดว่าคุ้มค่าที่จะปรับเปลี่ยนกายภาพเหล่านั้น และนายจ้างก็ยินดีจ่ายค่าปรับแทนการจัดเตรียมสิ่งเหล่านั้น กฏหมายและคนพิการจึงถูกกดขี่โดยสองเจตนาที่แฝงอยู่ในสังคมเหล่านี้ หรือจริงๆแล้ว คำกล่าวเหล่านั้นเป็นการบิดเบือนความคิดที่ว่า ” คนพิการไม่ควรมาอยู่ตรงนี้” การออกแบบอาคารสถานที่เหล่านั้น ด้วยขั้นบันไดสวยงาม ป้ายบอกทางเล็กจิ๋ว ประตูเล็กแคบ หลายครั้งเป็นที่เข้าใจได้ว่า เป็นการสื่อทางอ้อมไปถึงคนพิการว่า “เราไม่ต้อนรับคุณ”

การที่คนพิการถูกกระบวนการทางสังคมแยกออกไปจากสังคมกระแสหลัก เกิดในหลายกระบวนการทางสังคม ได้แก่

1) คนพิการถูกทำให้อยู่ในสภาวะ “ไร้อำนาจ” ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะประชาชน คนพิการถูกแยก/ถูกปฏิเสธ ออกจากกระบวนการตัดสินใจที่มีผลทางการเมือง/การปกครองที่สำคัญๆมากมาย

2) คนพิการถูกทำให้เป็น “คนชายขอบ” ของสังคมที่เค้าอยู่ คนพิการต้องถูกเกณฑ์ให้ไปอยู่ในที่พักอาศัยที่ไร้มาตรฐานในการดำรงชีวิต ถูกปฏิเสธที่จะเข้าถึงสถานที่และบริการที่เป็นสาธารณะ เช่น ระบบขนส่งมวลชน และคนพิการยังถูกจำกัดกรอบ ขอบเขตในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมกระแสหลัก ของสังคม เช่น ไปห้าง ไปผับ ไปวัด ไปดูภาพยนตร์ไม่ได้หรือไปได้อย่างลำบาก และเมื่อคนพิการกำลังทุลักทุเลกับทางที่ไม่สะดวก ก็ถูกคนผ่านไปมามอง ถูกนินทา ในที่สุด คนพิการก็โดนเหวี่ยงให้ไปอยู่ชายขอบเหมือนเดิม

3) นอกจากนี้คนพิการยังถูกแยกออกจากตลาดแรงงานที่สำคัญ โดยการเลือกปฏิบัติ และ/หรือสถานที่ทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยการเข้าถึงของคนพิการ คนพิการจึงได้ทำงานที่ค่าจ้างขั้นต่ำ หรืองานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก หรือ งานชั่วคราว/เป็นกะ (ไม่ใช่งานประจำ)

4) ความสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงอำนาจของคนพิการถูกสร้างผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม เช่น การกำหนดเกณฑ์ในการสร้างบรรทัดฐานของความ “เป็นปกติ” ให้เป็นความปกติของสังคม และใครที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่สังคมนั้นๆสร้าง คนคนนั้นก็กลายเป็น “คนอื่น-Others” หรือ ผิดปกติในสังคม ด้วยเหตุนี้ คนพิการจึงถูกสังคมสอนให้รู้ว่าควรอยู่ตรงไหน ถูกสั่งสมให้เข้าใจตรรกะและยอมรับต่อการถูกกดขี่และเอาเปรียบโดยสังคม และคิดต่อตัวเองว่าไร้ค่า เหมาะสมกับที่ที่สังคมได้จัดให้ยืนแล้ว สุดท้าย คนพิการถูกสอนให้โทษตัวเอง ละอายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและหาคำตอบในความพิการของตัวเองเอง
สังคมลดคุณค่าคนพิการด้วยการสร้างอคติต่อคนพิการ อคติเหล่านั้นสามารถเห็นได้จากภาษา คำนิยาม คำเรียก คน/ความพิการ จากสื่อกระแสหลัก ที่ร่วมกันสร้างภาพตีตราคนพิการว่า เดียงสา หรือไม่ก็มีความพิเศษ หรือไม่ก็อ่อนแอ ต้องพึ่งพา เป็นภาระแก่สังคม ฯลฯ

เราต้องทบทวนว่ารัฐได้พยายามมองเรื่องความพิการให้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล การที่รัฐมองเช่นนี้ เห็นได้จากการใช้พรบ.ที่กำหนดความพิการตามตัวแบบการแพทย์ คนพิการต้องขึ้นทะเบียนตามประเภทความพิการ ย่อมเป็นการผลักภาระให้คนพิการหรือสังคมรอบๆคนพิการต้องดูแลกันเอง ไม่ใช่ความบกพร่องของรัฐ การให้เบี้ยยังชีพ ซึ่งไม่สามารถยังชีวิตได้จริง การจัดสรรสวัสดิการยังอยู่บนแนวความคิดของรัฐคือ ผู้ให้ ผู้สงเคราะห์

การจัดการเรื่องการกระจายทรัพยากรในสังคมก็ขึ้นอยู่กับการมองความพิการของรัฐ (กลไกสำคัญอันหนึ่งของสังคม) ด้วย เช่น 1) มองคนพิการเป็น คนป่วย คนพิการก็ต้องกลายเป็นผู้รับความช่วยเหลืออาจต้องไปอยู่ในสถาบันที่รัฐจัดให้ และเสี่ยงที่จะถูกมองเป็นภาระสังคมมาก 2) มองคนพิการเป็น ประชาชน ที่ด้อยเปรียบคนพิการก็ยังเป็นผู้รับ หากแต่ในฐานะที่เป็นประชาชนของรัฐนั้น เป็นสิทธิพึงมี และในฐานะที่คนพิการก็ทำงานจ่ายภาษี แต่คนพิการที่ไม่มีงานทำก็จะถูกเหยียดและมองตนเองไร้ค่า บทความนี้จึงขอเสนอ มุมมองที่ 3) มองคนพิการเป็น มนุษย์ คนพิการก็ไม่มีในสังคม เพราะทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ป่วยและตาย รัฐจะจัดสวัสดิการที่ เรียกว่า ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน (โปรดศึกษาเพิ่มเติมในงานของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์) ทุกคนในสังคม คนของรัฐเมื่อต้องเจอกับอุปสรรคในการดำเนินชีวิต เช่น ค่าคลอดลูก ไปโรงเรียน รักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย มีอาหารที่มีคุณภาพกิน หรือแม้เมื่อพิการ รัฐก็จะจัดสรรการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เพราะทุกคน คือ มนุษย์ ที่เท่าเทียมกัน

สรุปเสนอแนะ

ในสังคมไทย เป็นสังคมที่มีพลวัตรและหลากหลาย เรายังคงเห็นแนวความคิดทั้งสามตัวแบบเกิดอยู่ในสังคมในช่วงเวลาเดียวกัน เราสามารถเห็นสาวสมัยใหม่ไปไหว้เจ้า ทำบุญ ขอให้หายเจ็บป่วยอยู่ที่ศาลข้างๆโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์เอ๊กซเรย์ ผ่าตัดหรือปลูกถ่ายไขกระดูกที่ทันสมัย และเรายังสามารถเห็นกลุ่มคนทำงานที่เรียกร้องเรื่องพิทักษ์สิทธิ์ทั้งคนและสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากมายในสังคมไทย ข้าพเจ้าไม่เห็นความจำเป็นที่สังคมต้องละทิ้งชุดความคิดใดชุดความคิดหนึ่ง การเห็นอกเห็นใจและทำทานต่อเพื่อนร่วมสังคมก็เป็นสิ่งที่ดีงาม การใช้เครื่องมือทางการแพทย์หาสาเหตุและรักษาความบกพร่องของสภาพร่างกายและปัญญาก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น การช่วยให้สังคมมองและเข้าใจเรื่องสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความตั้งใจ และความพยายามอีกมาก แต่ก็ต้องทำ

แต่สิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะมองไปที่ตัวแบบใด (ศาสนา/การแพทย์/ทางสังคมหรือสิทธิมนุษยชน) เราต้องทำความเข้าใจกับ อำนาจที่แฝงอยู่หลังการกระทำตามชุดความคิดเหล่านั้น เช่น การทำบุญ ให้ทานกับเพื่อที่พิการในสังคม เป็นการสร้างฐานอำนาจและความชอบธรรมทางสังคมหรือไม่ เช่นเดียวกับการมีสถาบันเพื่อดูแลคนพิการ จะกลายเป็นการสร้างกรอบเชิงพื้นที่และสังคม เป็นข้อจำกัดชีวิตของคนพิการหรือไม่ การเรียกร้องสิทธิต่างๆ เป็นเสียงที่คนพิการได้มีส่วนออกเสียงแค่ไหน มีคนพิการมากน้อยแค่ไหนอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนเหล่านั้น ไม่เช่นนั้น คนพิการ หรือ เรื่องความพิการ เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเพื่อหาความชอบธรรมต่อกลไกไปถึงอำนาจเท่านั้น ถึงแม้มีข้อกังขาว่า ต่อให้เป็นคนพิการทำงานเองก็อาจไม่สามารถพิทักษ์สิทธิคนพิการได้ อันนี้ก็ต้องใช้เวลา ประสบการณ์แต่ละคนต้องตกตะกอน
หลายคนกล่าวว่า แนวความคิดมองคนพิการเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องยากเกินกระทำได้ ในสังคมไทย เป็นยุคพระศรีอาริย์ (Utopian thought) ท้ายที่สุด เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์อยู่ได้ด้วยความหวัง และทำความหวังนั้นให้เป็นจริง บนความจริงที่มีอยู่ในมือของทุกคนเท่านั้นเอง เรื่องหลายเรื่องต้องอาศัยเวลาและเทศะที่เหมาะสม เช่น คนคงหาว่าบ้า ถ้าหากไปบอกชาวอเมริกันที่ใช้ทาสผิวดำอยู่ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ว่าครั้งหนึ่งอเมริกันจะถูกปกครองโดยประธานาธิบดีผิวดำที่มีชื่อกลางอย่างชาวมุสลิม!

 

 

 

 

09/08/2009

Nothing to declare

Filed under: Critigue,General point of view — siameseminority @ 12:29

Yes, this title sounds like a TV programme, but there’s nothing about the content. Recently I received some comments about the message I’ve sent around to people I’ve known. It might be hurtful for someone in the way that I touch; or you can say ‘I was doing some intrusive manners upon them’. Though I’m not really leftist, the circumstance around me push me at the edge. What will you do when you see someone took and still take advantage from the others and justified oneself as the RIGHTS? As a human, something need to be done.
Ther is no fair game to play in my country, currently. What can I do is just to keep going with what I believe that ‘one little change, start with yourself and change for good’.
The end of the day, we have to accept that no one can live forever, if we, as Thais, still dependently think that our lives rely on the ONE, the question run to mind is, when should we be free?

Blog at WordPress.com.